เทศกาลบั้งไฟพญานาค ประเพณีออกพรรษา จ.หนองคาย (ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้อเทศกาลบั้งไฟพญานาค ประเพณีออกพรรษา จ.หนองคายนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 2 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
3.การตักบาตรเทโวโรหนะ คำว่า “เทโวโรหนะ” แปลว่า “การหยั่งลงจากเทวโลก” ตามตำนานกล่าวว่า ในพรรษาที่ 7 นับตั้งแต่วันตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา จนกระทั่งถึงวันออกพรรษาจึงเสด็จกลับลงมาสู่โลก ณ สังกัสสนคร ในวันรุ่งขึ้น (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) เมื่อประชาชนชาวเมืองทราบข่าวจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์และรอทำบุญตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น ต่อมาภายหลังจึงได้มีการถือปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีทำบุญตักบาตรในรุ่งเช้าของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ตามตำนานดังกล่าว เรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ” (ส่วนมากนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว” หรือ “การตักบาตรเทโว” ) ในตัวเมือง จ.หนองคาย จะมีการร่วมทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะบริเวณถนนรอบเขตเทศบาลเมืองตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของเช้าวันถัดจากวันออกพรรษา นักท่องเที่ยวสามารถซื้อกับข้าวกับปลาอาหารต่าง ๆ ไปร่วมทำบุญตักบาตรกับชาวจังหวัดหนองคายได้
|
บรรยากาศการแข่งขันเรือยาวเนื่องในประเพณีออกพรรษา อ.เมือง จ.หนองคาย
|
|
นอกจากการแข่งขันเรือยาวแล้วยังมีการประกวดกระทงยักษ์ด้วย
|
4.การแข่งขันเรือยาวประเพณีออกพรรษา ทางจังหวัดหนองคายจะจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้นทุกๆ ปีในช่วงเช้าของวันออกพรรษา ภาพของฝีพายที่จ้วงลง – ขึ้น – ลงอย่างพร้อมเพรียงดูสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง การแข่งขันเรือยาวประเพณีนี้จะจัดขึ้นในหลายเขตหลายอำเภอของ จ.หนองคาย แต่ในเขตอำเภอเมืองจะมีทีมเรือยาวเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถไปรอชมการแข่งขันได้บริเวณท่าน้ำวัดโพธิ์ชัย – วัดสิริมหากัจจายน์ตั้งแต่เวลา 9.00 – 17.00 น. (ปกติการแข่งขันเรือยาวประเพณีจะจัดขึ้น 3 วันติดต่อกันโดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันออกพรรษาจนถึงวันแรม 2 ค่ำ เดือน 11 แต่กำหนดการของวัน – เวลาแข่งขันนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีได้ครับ)
|
ท่าน้ำใกล้ๆ องค์พระธาตุหนองคาย (พระธาตุหล้าหนอง)
|
5.พิธีบวงสรวงพระธาตุกลางน้ำ “พระธาตุกลางน้ำ” หรือ “พระธาตุหนองคาย” เดิมมีชื่อเรียกว่า “พระธาตุเมืองหล้าหนอง” สร้างขึ้นโดยพระมหาสังขวิชัยเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกขธาตุฝ่าพระบาทขวาจำนวน 9 องค์ แรกเริ่มพระธาตุเมืองหล้าหนองเป็นเพียงแค่อุโมงค์หิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2109 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 มหาราชแห่งอาณาจักรล้านช้างได้สร้างเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง 15.8 เมตร สูง 33 เมตรครอบ จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2390 แม่น้ำโขงได้ไหลกัดเซาะริมตลิ่งฝั่งขวาจนพระมหาธาตุเจดีย์ทรุดเอียงและพังทลายลง ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2539 หัวหน้าหน่วยโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ได้นำคณะเข้ามาสำรวจพบว่า องค์พระธาตุล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและแตกหักออกเป็น 3 ส่วน ทางคณะสามารถสำรวจได้เพียงแค่ 2 ส่วน คือ ส่วนฐานและเรือนธาตุส่วนกลาง สำหรับส่วนยอดพระธาตุนั้นถูกเนินทรายสูงใต้น้ำกลบทับจนไม่สามารถสำรวจได้
|
เรือยาว..........ที่.....ยาว.....ย๊าว.....ยาว..........จริงๆ |
ปัจจุบันทาง จ.หนองคาย จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองและพิธีบวงสรวงพระธาตุกลางน้ำขึ้นทุกๆ ปีในช่วงวันงาน “ประเพณีบุญบั้งไฟ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6)” และ “วันออกพรรษา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)” บริเวณท่าน้ำวัดสิริมหากัจจจายน์ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการงานดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น.เป็นต้นไป
|
....................ฝีพายสามัคคี คงจะดีถ้าคนไทยรักกันแบบนี้ทุกๆ คน....................
|
สุดท้ายนี้.....ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) มั่นใจว่าด้วยความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของ “บั้งไฟพญานาค” ปรากฏการณ์ลึกลับซึ่งยังไม่อาจหาบทสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนได้ (มีเพียงข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นจากก๊าซมีเทนร้อนเท่านั้น) ร่วมกับกิจกรรมอันมากมายหลากหลายในงานประเพณีออกพรรษาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คงจะทำให้จังหวัดหนองคายกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องการเดินทางมาเยี่ยมเยือนอย่างแน่นอน.....วันออกพรรษาปีนี้ หากยังไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวในดวงใจที่ไหน ก็ลองแวะมาชมบั้งไฟพญานาค ริมตลิ่งลำน้ำโขง จ.หนองคายดูสักครั้งสิครับ.....
|
ริมตลิ่งและโดยรอบบริเวณพระธาตุหนองคายองค์จำลอง
|
|
กระทงยักษ์ , ปราสาทผึ้ง , พระสังกัจจายน์ และ เรือไฟในเวลากลางวัน |
การเดินทางเพื่อเข้าร่วมงานประเพณีออกพรรษา – เทศกาลบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย :
รถยนต์ส่วนบุคคล จากกรุงเทพมหานครใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถ.พหลโยธิน) มุ่งหน้าไปทาง จ.สระบุรี เมื่อถึง อ.เมือง จ.สระบุรีให้เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถ.มิตรภาพ) ตรงผ่าน จ.นครราชสีมา , จ.ขอนแก่น , จ.อุดรธานี ไปจนถึง จ.หนองคาย สถานที่จัดงาน “ประเพณีออกพรรษา – เทศกาลบั้งไฟพญานาค” จะอยู่บริเวณถนนริมโขงด้านหน้า “วัดลำดวน” ในเขตอำเภอเมือง แต่แนะนำให้จอดรถบริเวณถนนมีชัยซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนริมโขงแล้วเดินไปยังสถานที่จัดงานจะดีกว่า (อาจหาที่จอดรถได้ค่อนข้างลำบากสักหน่อย) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมความแปลกประหลาดอัศจรรย์ของบั้งไฟพญานาคแนะนำให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 จาก อ.เมือง จ.หนองคาย ขับรถตรงไปยัง อ.โพนพิสัย หรือ อ.รัตนวาปี เพื่อรอชมบั้งไฟพญานาคจะดีกว่า (ในเขต อ.เมือง จะไม่ค่อยมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นให้เห็นครับ)
รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งหมอชิต (ใหม่) มีรถทัวร์ไปถึงสถานีขนส่ง อ.เมือง จ.หนองคาย และอำเภอสำคัญๆ อื่นๆ นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบตารางเดินรถสู่ จ.หนองคายได้จาก (www.transport.co.th)
รถไฟ สถานีรถไฟ จ.หนองคาย ตั้งอยู่ใกล้สะพานมิตรภาพไทย – ลาว จากสถานีรถไฟจะมีรถรับจ้างให้ติดต่อเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆ ในเขตตัวเมืองหนองคายได้ นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบตารางรถไฟได้จาก (www.railway.co.th)
เครื่องบิน จ.หนองคายไม่มีสนามบิน แต่ จ.อุดรธานี ซึ่งอยู่ห่างจาก จ.หนองคายประมาณ 54 กม.มีสนามบินตั้งอยู่และมีรถบัสจากสนามบิน จ.อุดรธานี รับ – ส่งถึงตัว อ.เมือง จ.หนองคาย
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : โดยปกติงานประเพณีออกพรรษา – เทศกาลบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย จะเริ่มต้นขึ้นก่อนวันออกพรรษา 3 วัน และไปสิ้นสุดหลังวันออกพรรษา 3 วัน รวมเวลาจัดงานทั้งหมด 1 สัปดาห์ โดยจะมีกิจกรรมในแต่ละวันแตกต่างกันไป (วันออกพรรษา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)
ขอขอบคุณ : ข้อมูลประเพณีออกพรรษาและการตักบาตรเทโวบางส่วนจาก “วิกิพีเดีย” , ข้อมูลการเดินทางสู่
จ.หนองคาย จากหนังสือท่องเที่ยวทั่วไทยไปกับ “นายรอบรู้” ของสำนักพิมพ์สารคดี , ข้อมูล “เทศกาลบั้งไฟพญานาค – ประเพณีออกพรรษา” จากศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว จ.หนองคาย
หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “ประเพณีออกพรรษา – เทศกาลบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย” เมื่อเดือน ต.ค. 2553
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงในเขต อ.เมือง จ.หนองคาย : ตลาดท่าเสด็จ , หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย , สะพานมิตรภาพไทย - ลาว , ศาลาแก้วกู่ , พระธาตุบังพวน
เทศกาลบั้งไฟพญานาค ประเพณีออกพรรษา จ.หนองคาย หน้า 1 2
|
|